วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563

การจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

วิธีการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยทั่วไป มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
    (1) คำว่า "ใบกำกับภาษี"ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
    (2) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ
    (3) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ
    (4) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ
    (5) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีและหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
    (6) วัน เดือน ปีที่ออกใบกำกับภาษี
    (7) ชื่อ ชนิด ประเภทปริมาณและมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
    (8) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการโดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

    กรณีที่มีการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ และผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบกำกับภาษี /ใบส่งของอยู่ในฉบับเดียวกัน โดยส่งมอบสำเนาใบกำกับภาษี /ใบส่งของให้กับผู้ซื้อพร้อมกับการส่งมอบสินค้า ส่วนต้นฉบับของใบกำกับภาษี /ใบส่งของ จะส่งมอบให้กับผู้ซื้อต่อเมื่อได้รับชำระราคาค่าสินค้ากรณีนี้ถือว่ามิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องส่งมอบต้นฉบับของใบกำกับภาษี (เอกสารฉบับแรก) ให้กับผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าสำเนาใบกำกับภาษี/ใบส่งของที่ผู้ซื้อได้รับผู้ซื้อจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการขอหักภาษีซื้อไม่ได้

    ในทางปฏิบัติหากผู้ประกอบการต้องการเก็บต้นฉบับใบส่งของไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีกรณีผู้ซื้อไม่ชำระราคาค่าสินค้าผู้ประกอบการควรออกใบกำกับภาษีแยกต่างหากจากใบส่งของและส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษีพร้อมทั้งสำเนาใบส่งของให้กับผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าโดยเก็บต้นฉบับใบส่งของไว้เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ หรือเพื่อความสะดวกผู้ประกอบการอาจออกใบกำกับภาษีและใบส่งของอยู่ในเอกสารชุดเดียวกันโดยถือปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีแบบเป็นชุด ก็ได้

2. ใบกำกับภาษีที่มีลักษณะเป็นแบบเอกสารออกเป็นชุดในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความประสงค์จะออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปรวมกับเอกสารการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับในชุดเดียวกันและใบกำกับภาษีไม่ใช่เอกสารฉบับแรก ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
    (1) ในเอกสารฉบับแรกของเอกสารชุดดังกล่าว หรือในเอกสารฉบับอื่นที่มิใช่ฉบับแรกแต่เป็นต้นฉบับของเอกสารฉบับอื่นใดก็ตาม ซึ่งมิใช่ฉบับที่เป็นใบกำกับภาษีจะต้องมีข้อความว่า "ไม่ใช่ใบกำกับภาษี" ไว้ในเอกสารฉบับนั้นด้วย
    (2) ในเอกสารทุกฉบับของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ไว้ด้วย
    (3) ในเอกสารฉบับที่ถือว่าเป็นสำเนาของเอกสารฉบับอื่นจะต้องมีข้อความว่า "สำเนา" ไว้ทุกฉบับ

    ข้อความตาม (1) ถึง (3) ดังกล่าวข้างต้น จะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายางเขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีดหรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้

3. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่งและสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่ได้นำใบกำกับภาษีของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการจะต้องมีข้อความว่า "สาขาที่ออกใบกำกับคือ....." ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวโดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ประทับด้วยตรายางเขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

4. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการสถานบริการน้ำมันได้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือได้ขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรถยนต์ที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จะต้องระบุ "เลขทะเบียนรถยนต์"ไว้ในใบกำกับภาษี โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

5. กรณีของการฝากขายสินค้าตามสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้าซึ่งตัวการและตัวแทนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 หรือร้อยละ 0 และทำสัญญาตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้าโดยตัวการได้ส่งมอบสัญญาให้แก่เจ้าพนักงานสรรพากรภายใน 15 วันนับแต่วันทำสัญญาตั้งตัวแทน เมื่อตัวแทนได้ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อตัวแทนต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในนามของตัวการ โดยตัวแทนต้องระบุชื่อที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนด้วย

6. กรณีได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้ออกใบกำกับภาษีเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศจะต้องระบุอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยไว้ในใบกำกับภาษีโดยอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว จะต้องตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีดหรือวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ (อัตราแลกเปลี่ยนให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากรในกรณีที่ไม่สามารถคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร)

         ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 196 บังคับใช้ 1 มกราคม 2557 กำหนดให้การจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ต้องเพิ่มรายการ ดังนี้
  1. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ (เฉพาะผู้ซื้อเป็นผู้ที่ต้องมีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามมาตรา 3 เอกาทศ)
  2. ข้อความว่า “สำนักงานใหญ่” หรือ “สาขาที่...”ซึ่งเป็นสถานประกอบการตามที่ปรากฎในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ โดยเป็นสถานประกอบการที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการ
  3. ข้อความว่า “สำนักงานใหญ่” หรือ “สาขาที่...” ซึ่งเป็นสถานประกอบการตามที่ปรากฎในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยเป็นสถานประกอบการซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามรายการที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษี