วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563

การจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

วิธีการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

1. ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยทั่วไป มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจะต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
    (1) คำว่า "ใบกำกับภาษี"ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
    (2) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ
    (3) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ
    (4) ชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ
    (5) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีและหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
    (6) วัน เดือน ปีที่ออกใบกำกับภาษี
    (7) ชื่อ ชนิด ประเภทปริมาณและมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
    (8) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการโดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

    กรณีที่มีการขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ และผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบกำกับภาษี /ใบส่งของอยู่ในฉบับเดียวกัน โดยส่งมอบสำเนาใบกำกับภาษี /ใบส่งของให้กับผู้ซื้อพร้อมกับการส่งมอบสินค้า ส่วนต้นฉบับของใบกำกับภาษี /ใบส่งของ จะส่งมอบให้กับผู้ซื้อต่อเมื่อได้รับชำระราคาค่าสินค้ากรณีนี้ถือว่ามิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องส่งมอบต้นฉบับของใบกำกับภาษี (เอกสารฉบับแรก) ให้กับผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าสำเนาใบกำกับภาษี/ใบส่งของที่ผู้ซื้อได้รับผู้ซื้อจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการขอหักภาษีซื้อไม่ได้

    ในทางปฏิบัติหากผู้ประกอบการต้องการเก็บต้นฉบับใบส่งของไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการฟ้องคดีกรณีผู้ซื้อไม่ชำระราคาค่าสินค้าผู้ประกอบการควรออกใบกำกับภาษีแยกต่างหากจากใบส่งของและส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษีพร้อมทั้งสำเนาใบส่งของให้กับผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าโดยเก็บต้นฉบับใบส่งของไว้เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ หรือเพื่อความสะดวกผู้ประกอบการอาจออกใบกำกับภาษีและใบส่งของอยู่ในเอกสารชุดเดียวกันโดยถือปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีแบบเป็นชุด ก็ได้

2. ใบกำกับภาษีที่มีลักษณะเป็นแบบเอกสารออกเป็นชุดในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความประสงค์จะออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปรวมกับเอกสารการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับในชุดเดียวกันและใบกำกับภาษีไม่ใช่เอกสารฉบับแรก ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
    (1) ในเอกสารฉบับแรกของเอกสารชุดดังกล่าว หรือในเอกสารฉบับอื่นที่มิใช่ฉบับแรกแต่เป็นต้นฉบับของเอกสารฉบับอื่นใดก็ตาม ซึ่งมิใช่ฉบับที่เป็นใบกำกับภาษีจะต้องมีข้อความว่า "ไม่ใช่ใบกำกับภาษี" ไว้ในเอกสารฉบับนั้นด้วย
    (2) ในเอกสารทุกฉบับของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด" ไว้ด้วย
    (3) ในเอกสารฉบับที่ถือว่าเป็นสำเนาของเอกสารฉบับอื่นจะต้องมีข้อความว่า "สำเนา" ไว้ทุกฉบับ

    ข้อความตาม (1) ถึง (3) ดังกล่าวข้างต้น จะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายางเขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีดหรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้

3. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่งและสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่ได้นำใบกำกับภาษีของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการจะต้องมีข้อความว่า "สาขาที่ออกใบกำกับคือ....." ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวโดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ประทับด้วยตรายางเขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

4. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการสถานบริการน้ำมันได้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือได้ขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรถยนต์ที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จะต้องระบุ "เลขทะเบียนรถยนต์"ไว้ในใบกำกับภาษี โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

5. กรณีของการฝากขายสินค้าตามสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้าซึ่งตัวการและตัวแทนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 หรือร้อยละ 0 และทำสัญญาตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้าโดยตัวการได้ส่งมอบสัญญาให้แก่เจ้าพนักงานสรรพากรภายใน 15 วันนับแต่วันทำสัญญาตั้งตัวแทน เมื่อตัวแทนได้ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อตัวแทนต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในนามของตัวการ โดยตัวแทนต้องระบุชื่อที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนด้วย

6. กรณีได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้ออกใบกำกับภาษีเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศจะต้องระบุอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยไว้ในใบกำกับภาษีโดยอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว จะต้องตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีดหรือวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ (อัตราแลกเปลี่ยนให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 79/4 แห่งประมวลรัษฎากรในกรณีที่ไม่สามารถคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร)

         ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 196 บังคับใช้ 1 มกราคม 2557 กำหนดให้การจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ต้องเพิ่มรายการ ดังนี้
  1. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ (เฉพาะผู้ซื้อเป็นผู้ที่ต้องมีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามมาตรา 3 เอกาทศ)
  2. ข้อความว่า “สำนักงานใหญ่” หรือ “สาขาที่...”ซึ่งเป็นสถานประกอบการตามที่ปรากฎในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ โดยเป็นสถานประกอบการที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการ
  3. ข้อความว่า “สำนักงานใหญ่” หรือ “สาขาที่...” ซึ่งเป็นสถานประกอบการตามที่ปรากฎในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดยเป็นสถานประกอบการซึ่งเป็นที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามรายการที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษี


การออกใบกำกับภาษีด้วยกระดาษ

วิธีการออกใบกำกับภาษีด้วยกระดาษ

         ใบกำกับภาษี คือเอกสารหลักฐานสำคัญซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจัดทำและออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการเพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการในแต่ละครั้ง

  1. กรณีการขายสินค้าผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีพร้อมทั้งส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อในทันทีที่มีการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ
  2. กรณีการให้บริการผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีพร้อมทั้งส่งมอบให้แก่ผู้รับบริการในทันทีที่ได้รับชำระราคาค่าบริการผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบกำกับภาษีอย่างน้อย 2 ฉบับ ดังนี้
  3. ต้นฉบับส่งมอบให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  4. สำเนาเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการลงรายงานภาษีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ทำรายงาน
         สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการต้องเรียกใบกำกับภาษีจากผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและหากผลการคำนวณภาษีปรากฏว่า ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ถือเป็นเครดิตภาษีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดจากเดือนภาษีที่คำนวณภาษีนั้นและหากในเดือนภาษีที่นำเครดิตภาษีไปชำระยังมีเครดิตภาษีคงเหลืออยู่อีกก็มีสิทธินำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดไปได้
         ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ใช้สิทธินำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไปก็มีสิทธิขอคืนภายใน 3 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2563

หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ต้องปฏิบัติดังนี้


    1. เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
    2.  ออกใบกำกับภาษี
        2.1 ผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี
        2.2 การออกใบกำกับภาษีด้วยกระดาษ
        2.3 การออกใบกำกับภาษีด้วยอิเล็กทรอนิกส์
    3. จัดทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งได้แก่
        3.1 รายงานภาษีซื้อ
        3.2 รายงานภาษีขาย
        3.3 รายงานสินค้าและวัตถุดิบ
    4. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
    ช่องทางการยื่น
        4.1 การยื่นแบบฯและชำระภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต
        4.2 การยื่นแบบฯและชำระภาษีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
        4.3 การยื่นแบบฯและชำระภาษีที่ธนาคารพาณิชย์ไทย
        4.4 การยื่นแบบฯและชำระภาษีที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ 1-5 และสำนักงานสรรพสามิตสาขาสำหรับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ต้องเสียทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม
        4.5 การยื่นแบบใบขนสินค้าขาเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ณ ด่านศุลกากรที่มีการนำเข้าสินค้าสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้นำเข้าที่นำเข้าสินค้า

ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 ความรู้เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม
                
  •  ผู้ประกอบการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
  •  ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
  •  ผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
  •  ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ( ฉบับที่ 43) ฯ ลงวันที่ 29 มกราคม พ . ศ . 2536
  • ผู้ประกอบการอื่นตามที่อธิบดีจะประกาศกำหนดเมื่อมีเหตุอันสมควร

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิต ภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ


ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
  •  ผู้ประกอบกิจการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
  • ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้มีการดำเนินการ และเตรียมการประกอบกิจการอันเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อสินค้า หรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างโรงงาน ก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร
  • ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระ โดยมีตัวแทน อยู่ในราชอาณาจักร ให้ตัวแทนเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการจดทะเบียน  
ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย แต่มีสิทธิแจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่
    
  • ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
  • ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายและมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
  • การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยท่าอากาศยาน
  • การส่งออกของผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
  • การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร
                
 ให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอแจ้งใช้สิทธิเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 01.1 จำนวน 1 ชุด 3 ฉบับ พร้อมกับคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 01 

บุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่เสียภาษี

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

        1)   บุคคลธรรมดา

        2)   ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

        3)   ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี

        4)   กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

        5)  วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

เมื่อมีเงินได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องทำอะไรบ้าง
 
1. ขอมีเลข และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิดขึ้น กรณีเป็นผู้มีเงินได้ ที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ได้แก่ เป็นคนต่างด้าว หรือกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
เว้นแต่ ผู้มีเงินได้ ที่มีเลขประจำตัวประชาชน สามารถใช้ เลขประจำตัวประชาชน แทนเลขประจำตัว ผู้เสียภาษีอากรได้ โดยไม่ต้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรอีก
ผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนา อยู่ในกรุงเทพมหานคร อาจยื่นคำร้อง ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 30 แห่ง หรือ สำนักสรรพากรพื้นที่ สาขา(อำเภอ)ทุกแห่ง
สำหรับในต่างจังหวัด ยื่นคำขอได้ที่สำนักงานสรรพากร พื้นที่ (จังหวัด) และสำนักงานสรรพากร พื้นที่สาขา (อำเภอ) ทุกแห่ง แล้วแต่กรณี
   
2. ยื่นแบบแสดงรายการ ปกติปีละ 1 ครั้ง เงินได้ ของปีใด ก็ยื่นแบบฯ ภายใน วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป เว้นแต่ เงินได้ บางลักษณะ เช่น การให้เช่า ทรัพย์สิน เงินได้จาก วิชาชีพอิสระ เงินได้จาก การรับเหมา เงินได ้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้อง ยื่นแบบฯ ตอนกลางปี สำหรับเงินได้ ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายใน เดือนกันยายน ของทุกปี

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ภายในเดือนมกราคม ถึงมีนาคมของปีถัดไป สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบฯ เสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ที่ต้องชำระ และเงินได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษี ขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย

นักท่องเที่ยวที่มีสิทธิ์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • นักท่องเที่ยวต้องนำสินค้าออกนอกราชอาณาจักรไทย ภายใน 60 วัน โดยนับวันที่ซื้อสินค้าเป็นวันแรก
  • ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าที่แสดงป้ายสัญลักษณ์ “VAT REFUND FOR TOURISTS”
  • ต้องซื้อสินค้ามูลค่าไม่น้อยกว่า 2,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) จากสถานประกอบการแห่งเดียวกัน ในวันเดียวกัน 
  • ณ วันที่ซื้อสินค้า ให้แสดงหนังสือเดินทางแก่พนักงานขายและขอแบบ ภ.พ.10 จากร้านค้าพร้อมทั้งต้นฉบับใบกำกับภาษี โดยแบบ ภ.พ.10 แต่ละฉบับต้องมีมูลค่าสินค้า 2,000 บาทขึ้นไป
  • ในวันที่เดินทางออกก่อน Check-in ให้นำสินค้าและแบบ ภพ.10 ไปแสดงให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสินค้าและประทับตรา
  • สินค้าราคาแพง ได้แก่ อัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ, ทองรูปพรรณ, นาฬิกา, แว่นตาและปากกาที่มีมูลค่าชิ้นละ 10,000 บาทขึ้นไป ต้องนำไปให้เจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจอีกครั้ง ณ สำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ผู้โดยสารขาออก ส่วนในหลังผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง
  •  นักท่องเที่ยวสามารถเลือกที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ 3 ช่องทาง

นักท่องเที่ยวสามารถเลือกที่จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ 3 ช่องทาง

ขอคืนกับเจ้าหน้าที่สรรพากร ณ สำนักงาน คืนภาษีมูลค่าเพิ่มท่าอากาศยานบริเวณพื้นที่ผู้โดยสารขาออกส่วนในหลังผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง
ส่งในตู้รับคำร้องที่ตั้งอยู่ ณ สำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มท่าอากาศยาน
ส่งจดหมายลงทะเบียนกลับมาที่กรมสรรพากร

ประกาศกรมสรรพากร เรื่องการกำหนดแบบแสดงรายการภาษี

ประกาศกรมสรรพากร
เรื่อง   การกำหนดแบบแสดงรายการภาษี
--------------------------------
      ด้วยในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพื่อชำระภาษีหรือนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือนำส่งภาษี จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยใช้แบบแสดงรายการภาษีที่กรมสรรพากรจัดพิมพ์ขึ้นเท่านั้น ตามที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 28) เรื่อง กำหนดแบบเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา ลงวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2531 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 58) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) เรื่อง กำหนดแบบเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดแบบเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538

      เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพื่อชำระภาษีหรือนำส่งภาษี อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวอนุมัติให้ใช้แบบแสดงรายการภาษีหรือนำส่งภาษีพิมพ์จากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th สำหรับใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพื่อชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีหรือนำส่งภาษีจึงมีสิทธิที่จะใช้แบบแสดงรายการภาษีที่พิมพ์จากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th หรือจะใช้แบบแสดงรายการภาษีที่กรมสรรพากรจัดพิมพ์ขึ้น ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพื่อชำระภาษีหรือนำส่งภาษีได้ตั้งแต่วันที่ที่ลงประกาศนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2545
ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
(นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล)

อธิบดีกรมสรรพากร